ตาพร่ามัว ปัญหาสายตาที่ไม่ควรมองข้าม สาเหตุ อาการ การแก้ไข
Published by นพรัตน์ ถิ่นพันธุ์ (O.D.) on
ตาพร่ามัว(blurry vision) คือ อาการความผิดปกติทางสายตา เช่น มองไม่ชัด โฟกัสไม่ได้หรือเห็นเป็นหมอก ๆ อาการตาพร่ามัวสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั้งสองตาหรือเกิดขึ้นในตาข้างใดข้างหนึ่งก็ได้
สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการตาพร่ามัว ได้แก่ ปัญหาสายตา(Refractive error) เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือสายตายาวตามวัยแต่ในบางรายอาจเกิดจากโรคตา(Eye disease) เช่น โรคต้อกระจก(Cataract) หรือโรคทางระบบประสาท(Neurological disorder) ได้เช่นกัน
ตาพร่ามัว สาเหตุเกิดจาก
สายตาสั้น(Myopia) เป็นปัญหาสายตาที่พบได้บ่อยมากที่สุด ยิ่งมีปริมาณสายตาสั้นเยอะยิ่งทำให้เห็นภาพมัวในระยะไกลมากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่ของสายตาสั้นเกิดจากขนาดของลูกตาที่มีขนาดยาวกว่าปกติทำให้แสงมาโฟกัสด้านหน้าจอประสาทตา
สายตายาวตั้งแต่กำเนิด(Hyperopia) ในคนที่มีปัญหาสายตายาวตั้งแต่กำเนิดอาจมีอาการพร่ามัวในระยะใกล้ ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณสายตายาว สาเหตุของสายตายาวตั้งแต่กำเนิดเกิดจากกายวิภาคของดวงตาด้วยขนาดของลูกตาที่มีขนาดเล็กส่งผลให้แสงเกิดการโฟกัสด้านหลังจอประสาทตา
สายตาเอียง(Astigmatism) ในคนที่มีปัญหาสายตาเอียงอาจมีอาการภาพมัวในระยะไกลร่วมกับอาการเห็นเงาซ้อน ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นปวดหัวหรือปวดรอบเบ้าตา สาเหตุของสายตาเอียงส่วนใหญ่เกิดจากความโค้งของกระจกตาที่โค้งไม่สม่ำเสมอกันสายตาเอียงสามารถเกิดร่วมกับปัญหาสายตาสั้นหรือปัญหาสายตาอื่น ๆ ได้
สายตายาวตามอายุ(Presbyopia) หากคุณมีอายุย่างเข้าเลขสี่และเริ่มมีอาการภาพมัวระยะใกล้ เช่น อ่านข้อความในไลน์ไม่เห็นดูตัวหนังสือไม่ชัดอาการเหล่านี้อาจหมายถึงคุณเริ่มมีปัญหาสายตายาวตามวัย
ตาพร่ามัวที่มีสาเหตุจากปัญหาสายตา(Refractive error) สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยใช้แว่นตา คอนแทคเลนส์หรือการผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์
ตาแห้ง(Dry eyes) หนึ่งในอาการของโรคตาแห้งคือตาพร่ามัวเมื่อเกิดอาการตาแห้งท่านสามารถเลือกใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการตาแห้งให้ลดน้อยลงได้
ตั้งครรภ์ อาการตาพร่ามัวตอนท้องมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่หากพบว่ามีอาการตามัวฉับพลันควรรีบรายงานแพทย์ทันทีเพราะอาจบ่งบอกถึงสัญญาณของโรคเบาหวาน
หากท่านมีอาการตาพร่ามัวในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือตาทั้งสองข้างควรรีบพบผู้เชี่ยวชาญทันทีเพื่อหาสาเหตุว่าอาการตาพร่ามัวเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น ปัญหาสายตา (Refractive error ) หรือ โรคทางตา (Eye disease)
You must be logged in to post a comment.