รู้จักโรคตาขี้เกียจ Lazy eye | Amblyopia
Published by นพรัตน์ ถิ่นพันธุ์ (O.D.) on
ยาวไป อยากเลือกอ่าน?
ตาขี้เกียจ คืออะไร
โรคตาขี้เกียจหรือ Amblyopia คือตาข้างที่มีประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลงเกิดจากดวงตาถูกขัดขวางพัฒนาการด้านการมองเห็นตั้งแต่เด็ก
พัฒนาการด้านการมองเห็นของมนุษย์เริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่ในท้องแม่ไปจนถึงช่วงวัยรุ่น แต่สำคัญมากในช่วงอายุ 6 ขวบแรกเพราะหากมีสาเหตุใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ตาข้างใดข้างนึงหรือตาทั้งสองข้างมองเห็นภาพมัวอาจทำให้เด็กเป็นโรคตาขี้เกียจ และมีการมองเห็นไม่ดีไปตลอดชีวิตแม้จะได้รับการแก้ไขสาเหตุของโรคตาขี้เกียจในภายหลังแล้วก็ตาม
ตาขี้เกียจ อาการ
- ระดับการมองเห็น Visual Acuity ของตาทั้งสองข้างต่างกันมากกว่า 2 บรรทัด
- ไม่สามารถเห็นชัดเป็นปกติได้ด้วยการใส่แว่นตา หรือ คอนแทคเลนส์
ตาขี้เกียจ เกิดจากอะไร
1)เด็กเป็นโรคตาบางชนิด ได้แก่ โรคต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด โรคหนังตาตก โรคเหล่านี้ทำให้เกิดการบดบังการมองเห็นของดวงตาข้างนั้น และไม่มีภาพที่ชัดไปกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็น
2)เด็กมีภาวะตาเหล่ตาเข หากปล่อยไว้นานอาจทำให้ตาข้างที่เป็นตาเหล่กลายเป็นตาขี้เกียจได้เพราะสมองจะเลือกรับภาพจากตาข้างที่มองตรงเท่านั้น
3)เด็กไม่ถูกแก้ไขปัญหาสายตา
3.1)ตาทั้งสองข้างมีค่าสายตาแตกต่างกันมาก (Anisometropia) ได้แก่ สายตาสั้นต่างกันมากกว่า -3.00 D สายตายาวต่างกันมากกว่า +1.00 D และสายตาเอียงต่างกันมากกว่า -1.50 DC
3.2)ตาทั้งสองข้างมีค่าสายตาสูง (Isometropia) ได้แก่ สายตาสั้นมากกว่า-8.00 D สายตายาวมากกว่า +5.00 D และสายตาเอียงมากกว่า – 2.50 DC
การป้องกันโรคตาขี้เกียจ
ในเด็กที่เป็นโรคหนังตาตกหรือตาเหล่ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้ไม่ยากแต่ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาสายตาให้ผู้ปกครองสังเกตจากพฤติกรรมเด็ก เช่น ถ้าเด็กมีอาการ หยีตา หรี่ตา หรือชอบจ้องอะไรใกล้ ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาเด็กไปพบจักษุแพทย์ หรือนักทัศนมาตรโดยเร็ว
การรักษาโรคตาขี้เกียจ
การรักษาตาโรคขี้เกียจควรจะรักษาก่อนอายุ 8 ขวบ
โดยรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจก่อน เช่น หากเด็กเป็นโรคต้อกระจกตั้งแต่กำเนิดควรผ่าตัดก่อน หรือ การใช้แว่นตาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติทางสายตา หลังจากนั้นตามด้วยการกระตุ้นการมองเห็นในตาข้างที่ขี้เกียจให้กลับมาใช้งานได้มากขึ้น เช่น การปิดตาข้างที่ดี
กระบวนการเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของหมอตาเด็ก
สรุปกันซักนิด
ตาขี้เกียจ รู้เร็ว รักษาได้ ยิ่งเราสามารถตรวจพบและรักษาโรคตาขี้เกียจได้เร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เด็กมีโอกาสกลับมามองเห็นได้ดีมากขึ้นเท่านั้น
ในฐานะนักทัศนมาตรอยากจะแนะนำกับผู้ปกครองว่า เด็กทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคตาขี้เกียจกับนักทัศนมาตรอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนเข้าชั้นประถมศึกษา
You must be logged in to post a comment.