[เคสรีวิว] EP.2 แก้ไขอาการภาพซ้อนแนวขวางตลอดเวลา
Published by นพรัตน์ ถิ่นพันธุ์ (O.D.) on
ลูกค้าอายุ 46 ปี พึ่งเปลี่ยนแว่นตาใหม่จากร้านเดิม ใส่แล้วปวดหัว จึงนัดหมายตรวจสายตากับนักทัศนมาตรที่ร้านหมอแว่นสาขาเมืองตรัง ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ลูกค้านำแว่นตามาด้วย 2 อัน อันแรกเป็นแว่นที่สวมทุกวันค่าสายตาสั้น -3.50 D อันที่สองเป็นแว่นที่ตัดมาล่าสุดมาจากร้านเดิมค่าสายตาสั้น -4.50 D แต่อาการทางสายตาแย่ลงกว่าเดิม เป็นยังไงลองไปดูกันครับ
ยาวไป อยากเลือกอ่าน?
อาการ
- แว่นเดิมมีอาการปวดหัว ไม่สบายตา
- ขณะสวมแว่นเดิมมองไกล มีอาการมองเห็นวัตถุซ้อนในแนวขวางตลอดเวลา
- หากเปิดตามองทีละข้างไม่มีปัญหาภาพซ้อน (บางครั้งต้องปิดตาข้างเดียวเพื่อขับรถจักรยานยนต์)
- มองใกล้ลูกค้าถอดแว่นตาอ่านหนังสือ และไม่มีอาการภาพซ้อน
ทำไมแว่นที่ทำมาถึงใช้งานไม่ได้ ?
- แว่นเดิมสายตาสั้น -4.50 D เป็นค่าสายตาที่เกินกว่าค่าสายตาจริงของลูกค้า (overminus)
- เมื่อสวมแว่นค่าสายตาลบมากเกินจริง ระบบการเพ่งทำงานมากขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ แนวสายตาถูกรบกวน ดวงตาจะขยับเข้าหากันมากขึ้น (convergence) ผลคืออาการทางสายตาแย่ลง เช่น ปวดหัว ไม่สบายตา เห็นภาพซ้อนมากขึ้น
สรุป
ภาพซ้อนที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากระบบการทำงานสองตานั้นไม่สมดุล (divergence Insufficiency) ตรวจพบปริมาณเหล่เข้าซ่อนเร้นที่มีขนาดมุมเหล่สูง เคสนี้สั่งผลิตเลนส์ใช้เวลากว่าหนึ่งอาทิตย์ และผลตอบรับสำหรับการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ ผลออกมาดีมาก สบายตา ไม่ปวดหัว และไม่มีภาพซ้อนขณะมองไกลอีกต่อไป
การตรวจเบื้องต้น
- ตรวจระดับการมองเห็นขณะมองไกลผ่านแว่นตาเดิมค่าสายตา -3.50 D
ตรวจโดยเปิดตาทีละข้างพบว่า ตาขวามีระดับการมองเห็นดีมาก และตาซ้ายมองเห็นดีเช่นกัน (VA 20/20)
ตรวจโดยเปิดสองตาพร้อมกันพบว่าเห็นตัวเลขชัด แต่ตัวเลขเป็นเงาซ้อนกันในแนวขวาง ตัวเลขแยกออกเป็น 2 ตัวชัดเจน
- ตรวจการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อตาโดยให้ลูกค้าถอดแว่นตา และให้เหลือบตามองวัตถุไปในทิศทางต่าง ๆ พบว่าลูกค้าเห็นวัตถุซ้อนเมื่อเหลือบตาไปทางด้านซ้ายและด้านขวา (lateral gaze)
- ตรวจตาเหล่ตาเขด้วยวิธี Alternate Cover Test พบตาเหล่เข้าซ่อนเร้นขณะมองไกล
- ตรวจหาตาขนาดมุมเหล่ด้วย Krimsky Test ตรวจพบ 14 ปริซึม Base out
การตรวจค่าสายตาอย่างละเอียด
ตรวจวัดสายตาโดยเทคนิคเรติโนสโคปีกับนักทัศนมาตร และได้ค่าสายตาดังนี้
ตาขวา สั้น -3.50 เอียง -0.50
ตาซ้าย สั้น -3.50
ค่าสายตายาวตามอายุ +1.50
ตรวจปัญหากล้ามเนื้อตาด้วย VonGrafe’ Technique พบว่า
- ตาเหล่เข้าซ้อนเร้นที่ระยะไกลตรวจพบ 20 ปริซึม base out
- แรงในการดึงกล้ามเนื้อตาให้ถ่างออก(Divergence)ในขณะมองไกลไม่เพียงพอ
- ระบบการเพ่ง และแนวสายตามีความสัมพันธ์กันน้อย (AC/A 1:1)
ตรวจปัญหากล้ามเนื้อตาด้วยเทคนิค Associated Phoria Rectangle test คู่กับเลนส์โพลารอยด์ ตรวจพบ 18 ปรึซึม base out
ในเคสนี้พิจารณาจ่ายค่าสายตา(Rx) เป็นเลนส์ชั้นเดียวโดยแก้ไขเฉพาะมองไกลค่าสายตาดังนี้
ขวา -3.50-0.50×95 5.5 prism base out
ซ้าย -3.50 5.5 prism base out
จะเห็นได้ว่าระบบการมองเห็นไม่ได้มีแค่ความชัด หรือไม่ชัด แต่มีเรื่องของระบบกล้ามเนื้อตา ตาเหล่ ตาเข ตาเหล่ซ้อนร้อน ตลอดทั้งการทำงานร่วมกันของทั้งสองตา โดยการตรวจวัดสายตาของนักทัศนมาตร สามารถหาความผิดปกติทางสายตาได้อย่างละเอียด
You must be logged in to post a comment.