fbpx

5สิ่งมหัศจรรย์ที่หลายคนยังไม่มีโอกาสได้รู้เกี่ยวกับดวงตา

Published by นพรัตน์ ถิ่นพันธุ์ (O.D.) on

ดวงตา

ดวงตา (The eyes) เป็นอวัยวะที่ซับซ้อนและน่าอัศจรรย์ จากการศึกษาพบว่ากว่า80-85เปอเซ็นต์ของการเรียนรู้ในมนุษย์เกิดขึ้นผ่านการมองเห็น เพื่อน ๆ ทราบหรือไม่ว่าภายในดวงตามีเซลล์ที่ช่วยให้เรามองเห็นได้ดีในสภาวะแสงที่แตกต่างกัน วันนี้หมอแว่นมีกราฟิกน่ารัก ๆ มาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจ ไปดูกันเลย

ดวงตา

1.เมลานินทำให้สีตาของมนุษย์แตกต่างกัน

คนเอเชียส่วนใหญ่มีดวงตาสีน้ำตาลเข้มนั่นเป็นเพราะมีจำนวนเซลล์เมลานินในม่านตา(Iris) เป็นจำนวนมากซึ่งเปรียบเทียบกับชาวยุโรปหรืออเมริกันที่มีดวงตาสีฟ้าหรือสีเขียวเพราะมีจำนวนเซลล์เมลานินน้อยกว่านั่นเอง

2.ในดวงตามนุษย์มีเซลล์รับแสงมากกว่า125ล้านเซลล์

ตัวรับแสง(Photoreceptor) ในดวงตามนุษย์มี2ชนิดชนิดแรกคือ เซลล์แท่ง (Rod cell) มีจำนวนมากถึง120ล้านเซลล์ทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นได้ดีในที่มืดสลัวและเซลล์รับแสงอีกชนิดคือเซลล์กรวย (Cone cell) มีจำนวนมากถึง5ล้านเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ให้มนุษย์มองเห็นสีสันสวยงามบนโลกกว้าง

3.VA 20/20 หมายถึงสายตาปกติ

20/20เป็นหน่วยของการวัดความสามารถในการมองเห็นในภาษาอังกฤษเรียกว่า Visual Acuity (VA) ผ่านชาร์ตที่ใช้วัดการอ่านหรือ Snellen chart โดยวัดห่างจากแผ่นชาร์ตเป็นระยะ20ฟุต

ตัวเลข20ตัวแรกหมายถึงระยะที่คุณสามารถอ่านตัวอักษรมาตรฐานในชาร์ตได้ทุกตัวในระยะ20ฟุต

ตัวเลข20ตัวหลังหมายถึงระยะที่คนสายตาปกติส่วนใหญ่อ่านตัวอักษรมาตรฐานในชาร์ตได้ทุกตัวในระยะ20ฟุต

4.มนุษย์กระพริบตามากกว่า5ล้านครั้งใน1ปี

การกระพริบตาเป็นการกระตุ้นต่อมน้ำตาให้หลั่งน้ำตาออกมามากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาโดยเฉลี่ยแล้วคนเรากระพริบตา 15-20 ครั้งในหนึ่งนาทีหรือประมาณ 15,000 ครั้งในหนึ่งวัน (โอ้โห) และการกระพริบตาหนึ่งครั้งใช้เวลาเพียงแค่100-150 มิลลิวินาทีเท่านั้น (รวดเร็วมาก ๆ)

5.โรคกลัวการมองตา (Ommatophobia)

แปลกแต่จริง “โรคกลัวการจ้องตา” Ommatophobia รากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า“ommato”แปลว่าดวงตาและคำว่า”phobia”แปลว่าความกลัว ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและอาการขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค